ถอดโรดแมป "FPT Next 2025" ปั้นแบรนด์ "เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย" ขึ้นแท่น Top 5 แบรนด์อสังหาฯ ไทย - Forbes Thailand

ถอดโรดแมป "FPT Next 2025" ปั้นแบรนด์ "เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย" ขึ้นแท่น Top 5 แบรนด์อสังหาฯ ไทย

ในวงการอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT คือ ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกของประเทศไทย ภายใต้โมเดลธุรกิจ One Platform ที่รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย-อุตสาหกรรม-พาณิชยกรรม ไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน และยังอยู่เบื้องหลังโครงการใหญ่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสามย่านมิตรทาวน์, สีลม เอจ, ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์, FYI Center หรือโครงการบ้านชื่อดังอย่างโกลเด้นนีโอ โกลเด้นซิตี้ ฯลฯ

แต่ในมุมมองของผู้บริโภค ต้องยอมรับว่ายังมีบางส่วนที่สับสนและไม่แน่ใจว่าเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย เป็นใครและทำธุรกิจอะไร จึงไม่แปลกที่หากคนไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับแบรนด์อสังหาฯ ยักษ์ใหญ่รายนี้

​ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

จุดนี้เองจึงเป็นที่มาของภารกิจสุดท้าทายครั้งใหม่ที่ ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาเดินเกมรุก เพื่อทำให้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยวางโรดแมป “FPT Next 2025” ตั้งเป้าชัดเจนว่าภายใน 3 ปี จะต้องปั้นแบรนด์ให้ขึ้นแท่นเป็น Top 5 ของธุรกิจอสังหาฯ ให้ได้ทั้งในกลุ่มที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม

เป้าหมายท็อป 5 ไม่ได้วัดที่รายได้หรือกำไรที่ต้องโตแบบก้าวกระโดด เพราะเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย วางเป้าหมายว่าใน 3 ปีนี้จะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงที่ปีละ 15% และจะทำรายได้แตะ 3 หมื่นล้านบาท โดยมีหมุดหมายใหญ่ที่ตั้งไว้ คือ ต้องการปั้นแบรนด์ให้เป็น Top of Mind ของคนไทยให้ได้ภายในเป้าเวลาเดียวกัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไม FPT ถึงมองว่านี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการปั้นแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ธนพล เฉลยให้หายข้องใจว่า เพราะเมื่อปี 2563 เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ได้ควบรวมธุรกิจกับบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ซึ่งช่วงแรกได้ให้ความสำคัญกับการจัดโครงสร้างองค์กรและวางรากฐานให้พนักงานเข้าใจก่อนว่า เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย คือใคร

​เมื่อวางโครงสร้างภายในองค์กรได้แข็งแรงแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะสื่อสารสู่คนภายนอกองค์กรได้เข้าใจ ผ่านโรดแมป “FPT Next 2025” ที่มุ่งยกระดับธุรกิจสู่ “Real Estate as a Service Brand” ด้วยการต่อยอดด้านนวัตกรรมการบริการ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

​คำถาม คือ โรดแมป FPT Next 2025 ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

ธนพล ค่อยๆ ฉายภาพให้เห็นว่า หากจะก้าวให้ทันโลกธุรกิจทุกวันนี้ การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ 5 ปี หรือ 10 ปี อาจจะไกลเกินไป เพราะฉะนั้นจึงเลือกวางโรดแมปไว้ที่ 3 ปี เพื่อสื่อสารถึงตัวตนของแบรนด์ที่จะทำให้โดดเด่นและแตกต่างจากบริษัทอสังหาฯ รายอื่นผ่านการดำเนินงานที่สำคัญใน 3 มิติ ภายใต้ 3P

​สำหรับ P แรก คือ People โดยมองว่า คนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อรับมือกับสารพัดความท้าทาย ทั้งสงครามการแย่งคน การลาออกครั้งใหญ่ ฯลฯ FPT ให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน ทั้งเรื่องค่าตอบแทน เส้นทางการเติบโตในอาชีพ รวมถึงสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่น สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร เช่น การปรับเปลี่ยนจากสิทธิในการสมรสเป็นการลาในวันสำคัญของชีวิต นอกจากนี้ ยังดูแลไปถึงครอบครัวของพนักงาน โดยปักธงว่าภายใน 3 ปี จะเป็น Employer of Choice หรือบริษัทที่คนอยากร่วมงานด้วย

​ถัดมา Planet คือ การดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นและคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social, Governance) ซึ่งได้ดำเนินการในหลายด้าน เช่น การพัฒนาอาคารตามมาตรฐานอาคารเขียว (LEED), การใช้พลังงงานสะอาดด้วยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 6 แสนต้นให้ได้ภายใน 3 ปี

​ปิดท้ายด้วย Purpose ธนพล บอกว่า ยุคนี้ต้องตอบให้ได้ว่าเหตุผลของการมีอยู่ของบริษัทคืออะไร สำหรับ Brand Purpose ของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย คือ Inspiring experiences, creating places for good. หรือสร้างสรรค์พื้นที่ให้ประสบการณ์ที่ดีคงอยู่ผ่านทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ

​“ในธุรกิจที่อยู่อาศัย เราคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการอยู่อาศัย และการออกแบบที่มาพร้อมฟังก์ชันต่างๆ ที่ยกระดับการใช้ชีวิตควบคู่กับการช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมด้วยแอปพลิเคชัน Home+ ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าตลอดกระบวนการขายและบริการ ขณะที่อาคารสำนักงานเรามีการนำเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition) และระบบควบคุมยานยนต์เข้า-ออกพื้นที่ ตลอดจนติดตามการจราจรและระดับมลภาวะภายในพื้นที่ได้ ฝั่งอสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรม ได้เตรียมผลักดันการให้บริการคลังสินค้าแบบใช้ร่วมกัน (Co-Warehousing) รองรับความต้องการของลูกค้าที่ใช้บริการรายครั้ง (Pay-Per-Use) หรือต้องการจัดเก็บสินค้าภายในคลังสินค้าตามจำนวนพาเลท (Pay-Per-Pallet) รวมถึงตอบสนองความต้องการใช้พื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีที่เป็นของส่วนกลางโดยจ่ายค่าบริการตามจำนวนการใช้งาน”

​อย่างไรก็ตาม แม้จะวางโรดแมปอย่างรัดกุมรอบด้าน แต่ธนพลยอมรับว่า ภารกิจครั้งนี้เต็มไปด้วยความท้าทายไม่น้อย เพราะด้วยพอร์ตโฟลิโอที่หลากหลาย มีทั้งกลุ่มลูกค้าโดยตรง (B2C) และกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (B2B)

“ผมเชื่อว่าด้วยการวางโครงสร้างองค์กรที่ดี และมีการสื่อสารภายในองค์กรที่แข็งแรง จะทำให้สามารถข้ามผ่านความท้าทายนี้ได้ โดยตอนนี้บริษัทปูพรมสื่อสารแบรนด์ผ่านการใช้สื่อในหลากหลายช่องทาง แต่ผมมองว่าช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ "พนักงาน" ที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารเรื่องราวขององค์กรออกไป โดยเราให้ความสำคัญในการสื่อสารข้อมูลของบริษัทให้แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งเสริมสร้างบรรยากาศให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการปูรากฐานให้กับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ในการก้าวสู่แบรนด์ Top 5 ของบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำที่ผู้บริโภคนึกถึง” ธนพลทิ้งท้าย