"เดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์" UBE สร้าง ecosystem ใหม่ ให้มันสำปะหลัง - Forbes Thailand

"เดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์" UBE สร้าง ecosystem ใหม่ ให้มันสำปะหลัง

แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ผู้ผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลก ทว่ากลับเป็นผู้ส่งออกอันดับแรก ทั้งยังส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแปรรูปเป็นอันดับต้นๆ ล่าสุดได้รุกเข้าสู่ตลาดแป้งมันสำปะหลังอินทรีย์ (organic) เพราะต้องการสร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี ที่นำทัพโดย บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ซึ่ง เดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ UBE เป็นผู้สร้าง ecosystem ใหม่โลกใหม่ให้มันสำปะหลัง

บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ครอบครัวนักการเมืองและนักธุรกิจ “สิทธิชัย โควสุรัตน์ และ สายสุณีย์ คูหากาญจน์” จึงสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง และตั้งโรงงานเพื่อรับซื้อผลผลิตมาแปรรูปเป็นแป้งมันเริ่มจำหน่ายในปี 2553 ต่อมาผลผลิตมีปริมาณมากเกินกำลังของโรงงานจึงมองหาธุรกิจใหม่รองรับ นั่นเป็นที่มาของการผลิตเอทานอลเชิงพาณิชย์ (เกรดเชื้อเพลิง) ในปี 2555 มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบด้วยกลุ่มครอบครัวโควสุรัตน์ (สิทธิชัย โควสุรัตน์ และ สายสุณีย์ คูหากาญจน์) บมจ. บีบีจีไอ และ บจ. ไทยออยล์ เอทานอล บริษัทตั้งอยู่ที่อุบลราชธานี ดำเนินธุรกิจ 3 ส่วน ประกอบด้วยธุรกิจเอทานอล แป้งมันสำปะหลัง และเกษตรอินทรีย์ โดยสองธุรกิจหลังดำเนินงานภายใต้ชื่อ บจ. อุบลซันฟลาวเวอร์ และ บจ. อุบลไบโอเกษตร เป็นผู้ผลิตและแปรรูปมันฯ ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนล่าง และนำมันสำปะหลังเข้าสู่กระบวนการผลิต 1.2 ล้านตันต่อปี ตั้งโรงงานรับซื้อผลผลิต ธุรกิจที่ 1 เอทานอล เริ่มในปี 2554 โดย UBE ร่วมทุนกับ บจ. ไทยออยล์ เอทานอล ในเครือไทยออยล์กรุ๊ป และ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น ปัจจุบันเป็นผู้นำด้านการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศ ด้วยกำลังการผลิต 400,000 ลิตรต่อวัน หรือ 146 ล้านลิตรต่อปี สามารถผลิตได้ทั้งเกรดเชื้อเพลิง (fuel alcohol) และเกรดอุตสาหกรรม (industrial alcohol) ภายใต้แบรนด์ UBON BIO และ KLAR โดยบริษัทเพิ่งผลิตเกรดอุตสาหกรรมช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ กรมสรรพสามิตจึงอนุญาตให้ผลิตแอลกอฮอล์เกรดอุตสาหกรรมได้ชั่วคราว โดยครั้งนั้นคณะกรรมการบริษัทได้ให้นโยบายว่าต้องจำหน่าย “ราคาถูกที่สุด” เพื่อตรึงราคาสินค้าประเภทเดียวกัน ซึ่งช่วงหนึ่งราคาค่อนข้างสูงเนื่องจากตลาดมีความต้องการมาก ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมียอดจำหน่ายเป็นอันดับต้นๆ ในช่องทางออนไลน์ ธุรกิจที่ 2 ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังเกรดอาหารและเกรดอุตสาหกรรม ภายใต้แบรนด์ “อุบลซันฟลาวเวอร์” จำหน่ายทั้งแป้งมันสำปะหลัง (cassava starch) และแป้งฟลาวมันสำปะหลัง (cassava flour) แบบทั่วไป เริ่มจำหน่ายแบบออร์แกนิกตั้งแต่ปี 2558 ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิกรายใหญ่ของโลกด้วยจำนวนมากกว่า 20,000 ตันต่อปี ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ของไทย และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลของ USDA (สหรัฐอเมริกา), กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป, JAS (ญี่ปุ่น), เกาหลี และจีน โดยมีลูกค้าเป็นแบรนด์อาหารเด็ก ขนม และอาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำของโลก ปี 2564 ออกผลิตภัณฑ์ “แป้งฟลาวมันสำปะหลัง” ภายใต้แบรนด์ Tasuko และ Savvy สามารถใช้แทนแป้งสาลีในอุตสาหกรรมขนม เบเกอรี่ มีคุณสมบัติเด่นคือ ปลอดกลูเตน (gluten free) ไฟเบอร์สูง และไม่เป็นพืช GMO ปัจจุบันมีกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลังเฉลี่ย 150,000 ตันแป้งต่อปี “กลูเตน” เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในข้าวสาลี ชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยมีอาการแพ้เมื่อบริโภค กล่าวคือระบบย่อยและดูดซึมอาหารทำงานผิดปกติ หรือท้องอืด ท้องเสีย มีสิวและผื่นขึ้น ข้อมูลจากรายงานเรื่อง “Gluten Free เทรนด์ฮิตกลุ่มอาหารฟรีฟอร์ม โอกาสสร้างโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่จากมันสำปะหลังไทย” ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปี 2562 ระบุว่ากลุ่มผู้บริโภคหลักอาหารกลูเตนฟรีอยู่ในสหภาพยุโรป 52% สหรัฐอเมริกา 20% โดยมูลค่าตลาดแป้งปลอดกลูเตนปี 2562 ในภูมิภาคทั้งสองแห่งอยู่ที่ 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 12.5 พันล้านเหรียญ เพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยี บ่ายวันหนึ่งของวันศุกร์สุดสัปดาห์ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ภายในห้องประชุมมีโต๊ะขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางห้อง บนโต๊ะจัดเรียงไว้ด้วยผลิตภัณฑ์แป้งฟลาวสำหรับทำเบเกอรี่ชนิดต่างๆ เช่น เค้ก บราวนี่ คุ้กกี้ แพนเค้ก ใกล้ๆ กันนั้นมีเค้กช็อกโกแลตปอนด์ใหญ่ คุ้กกี้ พายไก่ กล้วยทอด ทั้งหมดใช้แป้งฟลาวมันสำปะหลังแทนแป้งสาลี ซึ่งดูจากรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้แตกต่างที่ทำจากแป้งสาลี อีกทั้งรสชาติก็เช่นกัน เดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล ฉายภาพธุรกิจแป้งมันสำปะหลังอินทรีย์ ซึ่งเขาบอกว่า ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในตลาดโลก “สิ่งที่เราภูมิใจคือทำแป้งมัน organic ไม่มีสารเคมีตั้งแต่แปลงปลูก การจัดการในโรงงาน และควบคุมการส่งถืงมือลูกค้า และตรวจรับรองโดย auditor ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายมีตัวเลข certificate ให้สามารถเช็กได้ว่าล็อตนี้ผลิตมาจากที่ไหน ผ่านกระบวนการเมื่อไร ทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าสินค้าปลอดสารเคมีจริง ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานการเกษตรภาครัฐ โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรมาช่วยให้องค์ความรู้แก่เกษตรกรว่า ปลูกแบบไหน อย่างไร หากไม่ใช้สารเคมีแล้วจะใช้อะไรทดแทน ทั้งหมดเป็นไบโอเทคโนโลยีซึ่งประเทศไทยเก่งมาก” เหตุผลที่บริษัทขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ถึง 5 แบบ ด้วยหลักคิดว่าจะขายประเทศไหนต้องใช้การรับรองของประเทศนั้น ซึ่งทั้ง 5 แห่งเป็นตลาดสำคัญของสินค้าออร์แกนิก “ผลิตภัณฑ์มัน ทั้งมันเส้น แป้งมัน ส่งออกจีน 60-70% ส่งออกประเทศอื่นๆ น้อย แต่ผมอยากทำสินค้าที่มีคุณภาพอีกเกรด เน้นขาย อเมริกา ยุโรป สิ่งที่ยากคือ คุณภาพและการยอมรับ โรงงานแป้งมันของเราเป็นแห่งแรกๆ ที่ได้มาตรฐาน food safety ของอเมริกา FAMA และ BRC ของยุโรป...เขาบอก หากคุณได้มาตรฐานนี้ก็ขายได้ ฟังดูเหมือนง่ายแต่เราต้องปรับปรุงโรงงานและใช้เงินลงทุน โชคดีที่ผู้ถือหุ้นเข้าใจยอมลงทุนและอนุมัติ เราส่งออกไปอเมริกาเป็นอันดับ 1 มาหลายปีแล้ว ผมคิดว่าเราควรใช้เทคโนโลยีองค์ความรู้ และทำสินค้าอาหารที่มีมาตรฐานสูงและใส่เทคโนโลยีขายให้กับตลาดกลุ่มนี้...ราคามันสำปะหลังในตลาดกิโลกรัมละ 2 บาทต้นๆ บริษัทรับซื้อ 2.50 บาท ถ้าเป็นมันอินทรีย์กิโลกรัมละ 3-4 บาท ขึ้นกับคุณภาพของเชื้อแป้ง เราต้องทำสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และตลาดต้องการ มันถึงจะย้อนกลับมาที่ต้นน้ำคือ เกษตรกร เขาจะได้ประโยชน์ด้วย” การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและยกระดับชีวิตให้ชาวไร่ด้วย เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าราคาตลาด ถ้านักธุรกิจยังผลิตสินค้าแบบเดิมๆ รับซื้อมันสำปะหลังในราคาไม่สูงนัก วงจรซ้ำๆ ที่มักเกิดขึ้นคือ ผลผลิตราคาตกต่ำ รัฐบาลต้องจัดสรรเงินมาประกันราคาพืชผล “สิ่งที่ผมอยากทำให้เห็นเป็นโมเดลคือ ขายสินค้าราคาสูง เพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตราคาสูง เกษตรกร happy ขณะเดียวกันเราก็ยังได้กำไรดีด้วย เรื่องนี้มีจริงในโลก เพียงแต่ว่าสินค้าต้องมีมาตรฐาน ไม่ใช่แบบที่ทำอยู่ปัจจุบัน” ผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ แม้ตลาดจะตอบรับแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิก แต่ข้อจำกัดอยู่ที่ต้นน้ำคือ การเพาะปลูก “เราพัฒนาแป้ง organic มาหลายปี เติบโตเร็วมาก จุดที่เป็นคอขวดคือ ต้นน้ำแปลงปลูกไม่สามารถขยายได้ทันความต้องการ...ยอดขายแป้งมัน organic ครึ่งปีแรกเท่ากับปีที่แล้วทั้งปี ครึ่งปีแรกส่งไป 20,000 ตัน ต้องใช้แปลงปลูกมากกว่า 20,000 ไร่ บริษัทมีคนตรวจรับรองแปลงมากกว่า 50 คน ในขั้นตอนหนึ่งต้องเอาดินไปตรวจมีลิสต์รายชื่อสารเคมีกว่า 200 ชนิด “เรามีแปลงปลูกที่อุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง 13 จุด หลายคนสงสัยทำาไมไม่ทำใกล้โรงงาน ควบคุมก็ง่าย คำตอบคือ ต้อง diversify ไม่งั้นจะไม่ sustainable สมมติแปลงหนึ่งน้ำท่วมใช้ไม่ได้แน่นอน การทำ organic เราทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำจนถึงมือลูกค้า...เรารับซื้อราคาสูงกว่าตลาด 2 เท่า ต้องรู้จำนวนล่วงหน้าเพราะสินค้าเก็บไม่ได้นาน ช่วงนี้เราต้องคุยกับลูกค้าแล้ว และทำ contract farming กับเกษตรกร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (มีสิทธิบัตร) การผลิตแป้งฟลาวมันสำปะหลังจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประเทศไทยไม่ค่อยมีสินค้าประเภทนี้ เพราะบริโภคคาร์โบไฮเดรตจากข้าว ส่วนประเทศแถบแอฟริกา บราซิล เพาะปลูกมันฯ มากกว่าไทยแต่ส่งออกน้อยเพราะบริโภคเป็นแป้งฟลาว ขณะที่ไทยนำเข้าข้าวสาลีสำหรับทำเบเกอรี่ ขนมปัง “เรานำเข้าแป้งสาลีมานานจนคิดว่ามีแต่แป้งสาลีที่ทำได้ ปีหนึ่งๆ นำเข้าเป็นล้านตันผมเห็น trend ปี 2019 และพบว่า สวทช. มีเทคโนโลยีก็เลยขอ license และเรา install เครื่องจักรขนาดใหญ่ ปีหนึ่งผลิตได้เป็นหมื่นตันและส่งออก เพราะตลาดในประเทศแทบไม่รู้จัก” ต้นปีที่ผ่านมาเริ่มทำตลาดแป้งฟลาวในประเทศ ทีมงานทักท้วงว่าไม่จำเป็น เพราะมีตลาดต่างประเทศ ซึ่งทราบถึงคุณภาพของสินค้าอยู่แล้ว “ผมบอกว่า น่าเสียดาย เทคโนโลยีก็ของคนไทย หัวมันสำปะหลังในไทย นึกภาพว่านี่เป็นแป้งทางเลือก หลังโควิดประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โรงแรมในไทยมีเมนูกลูเตนฟรี offer ลูกค้า มันจะ amazing ขนาดไหน...เราทำออกมาให้เห็นว่าฟลาวทำอะไรได้บ้าง ต้องการให้เป็นที่รู้จัก และมีคนเอาไปทำขนมปัง เค้ก เราคนเดียวจะสร้าง ecosystem อย่างไร โรงงานแป้งมันอื่นจะไปขอ license สวทช. ก็ได้ ผมไม่คิดว่าเป็นคู่แข่ง เพราะตลาดหลักเราอยู่ต่างประเทศ... “สิ่งที่เราหวัง ถ้าขายได้ดีเราก็ดีใจ แต่จะดีใจมากกว่าถ้ามีคนไปขอ license เทคโนโลยีเยอะๆ และสร้างออกมา มันสำปะหลังเป็นพืชชนิดเดียวที่ไม่เป็น GMO มี fiber เยอะ และ medium GI ทำให้น้ำตาลในเลือดไม่ swing” (ส่งผลให้ไม่เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน) คุณสมบัติข้างต้นคือเทรนด์อาหารแห่งอนาคตที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เพื่อลดความเสี่ยงยามเจ็บป่วย “ถ้าคนในประเทศไทยช่วยกันทำโปรโมตเรื่องนี้ก็จะเป็นการยกระดับรายได้และราคามันสำปะหลังขึ้นมา จะเป็นความภูมิใจว่าเราไม่ได้ผลิตอาหารเลี้ยงแค่คนไทยแต่เลี้ยงคนทั้งโลก...วันนี้คนต่างประเทศแพ้กลูเตน 7-10% คนอเมริกัน 300 ล้านคน 10% คือ 10 ล้านคน อย่านึกว่าตลาดเล็ก ผู้ประกอบการไทยถ้ายกระดับสินค้าตนเองให้เป็น gluten free จะไปได้อีกไกล ธุรกิจที่นี้คือ product champion ที่เราตั้งใจจะเติบโตในอนาคต” เดชพนต์ย้ำบ่อยครั้งว่า ผลิตภัณฑ์เติบโตมาจากเทคโนโลยี ซึ่งเขาได้องค์ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งให้ทุนมหาวิทยาลัยทำวิจัยเพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง เช่น สารให้ความหวาน กรดอะมิโนออร์แกนิก อุบลโมเดล ธุรกิจที่ 3 คือ เกษตรอินทรีย์ หลังจากประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจจากมันสำปะหลังอินทรีย์ จึงขยายไปยังพืชชนิดอื่นๆ เบื้องต้นคือ ข้าวและกาแฟ เนื่องจากในจังหวัดอุบลราชธานีชาวนาปลูกข้าวอินทรีย์กันมาก ในอนาคตจะมีผัก ผลไม้ สมุนไพร กัญชา กัญชง “อุบลฯ มีข้าวอินทรีย์เยอะมาก ปลูกเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ มาตรฐานไทยแลนด์ ไม่ใช่ไม่ดี แต่เวลาไปเสนอขายลูกค้าๆ ต้องการตามมาตรฐานของเขา มันเป็นเรื่อง commercial ล้วนๆ สิ่งที่เราทำง่ายมากก็ปรับให้เป็น organic สากล และขายในตลาดอีกแบบ ถ้าคุยกับชาวนาอุบลฯ จะบอกว่าราชการให้ทำ ทุกคนทำออกมาเหมือนกันหมดแพ็กละ 1 กิโลแย่งกันขาย ไม่มีตลาดเลย “แต่พอผมไปพบลูกค้าที่ตลาดอเมริกา เขาถามว่า you มีข้าวหอมมะลิ organic ไหม แต่เป็นมาตรฐาน USDA นะ และให้ราคาอีกแบบเลย ช่องว่างการตลาดคืออะไร...คนที่ sourcing organic ingredient เวลาได้สินค้าชนิดหนึ่งก็อยากได้อย่างอื่นด้วย ได้แป้งมันแล้วอยากได้แป้งข้าว สิ่งที่บริษัทเห็นโอกาสทางธุรกิจคือ เปลี่ยนจาก organic ไทยแลนด์เป็นระดับสากล ซึ่งดีทั้ง supply chain เกษตรกรก็ happy ลูกค้าก็อยากได้” ส่วนกาแฟมาจาก สปป.ลาว โดย UBE ทำ contract farming กับเกษตรกรที่แขวงสาละวัน ซึ่งยังปลูกแบบพื้นบ้าน ไม่ใช้สารเคมี จากการสำรวจพบว่า มีศักยภาพหลักหมื่นไร่ และตรวจรับรองแล้วประมาณพันไร “นี่คือโอกาสทางธุรกิจ เราจะใช้ความชำนาญเรื่องการตรวจรับรอง รู้จักตลาด เราเห็นช่องว่างตรงนี้ทำเกษตรอินทรีย์ และได้รับการรับรองในระดับที่เขาต้องการ” การที่ ecosystem ของมันสำปะหลังเติบโตงอกงามมาถึงจุดนี้ ปัจจัยหนึ่งมาจาก “อุบลโมเดล” เดชพนต์เล่าว่า ตอนที่มารับงานก็คิดว่าจะสร้างความมั่นคงให้กับวัตถุดิบอย่างไร เมื่อครอบครัวโควสุรัตน์สนับสนุนเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง ปรากฏว่าชาวไร่ต่างเร่งปลูก แปลงหนึ่งมีนับสิบพันธุ์ ปลูกด้วยความไม่รู้ เขาจึงติดต่อกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือเกษตรกรด้านองค์ความรู้ “สิ่งที่พบคือ ทุกคนตื่นเต้นและส่งเสริมกันหมด คนหนึ่งบอกอย่างนี้ อีกคนบอกอย่างนั้น ทุกท่านคิดดี มีงบฯ และอยากทำ แต่คิดโดยไม่คุยกันเลย ผมบอกขอให้คุยพร้อมกันสักครั้ง เวลาคิดขอให้ร่วมกันคิด เราไม่ก้าวก่ายงานกัน แต่คุยเพื่อให้ไปในทางเดียวกัน” หลังจากนั้นมีการเซ็นสัญญาร่วมกัน ซึ่งมีแค่ข้อเดียวคือ เวลาจะทำนโยบายเกี่ยวกับมันสำปะหลังขอให้คุยกันก่อนเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมในจังหวัดอุบลฯ ว่า ถ้าจะทำเรื่องมันสำปะหลังต้องมาคุยวงนี้ ปัจจุบันยังมีการพบปะกันทุกเดือน “เราไม่เคยบอกว่า ต้องเอางบฯ มาให้คนนี้ แต่ใช้แค่แผนร่วมกัน ทำแล้วเห็นผล หมายความว่า ลงงบฯ ไปแล้วผนวกงบคนอื่นด้วย ผลก็ทวีคูณ กลายเป็นว่าทุกคนทำงานแล้วได้ผลงานหมดเลย ผมว่าข้าราชการไทยเก่งมาก แต่ทำอย่างไรจะดึงศักยภาพมาใช้ข้าราชการที่อุบลฯ เก่งแล้วอยากทำด้วย เราภูมิใจ “ถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 2554 ผลผลิตทั้งประเทศ 3 ตันกว่าต่อไร่ แต่อุบลฯ ได้เกือบ 4 ตันต่อไร่ และโต 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ทุกปี ทั้งหมดเกิดจากศักยภาพของหน่วยงานรัฐ ถ้าเอาทุกส่วนมารวมกัน บวกศักยภาพเอกชนแล้วเจอเกษตรกรหัวไวใจสู้ อะไรก็เกิดขึ้นได้” กรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE กล่าวในตอนท้าย ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine