นพดล เจียรวนนท์ CP FOTON ปักธง Top 3 รถบรรทุก - Forbes Thailand

นพดล เจียรวนนท์ CP FOTON ปักธง Top 3 รถบรรทุก

หลังประสบความสำเร็จในการนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ MG จนเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเป็นอย่างดี 4 ปีก่อน เครือเจริญโภคภัณฑ์รุกเข้าสู่ตลาดรถเชิงพาณิชย์ และมั่นใจว่ารถบรรทุก CP FOTON จะขึ้นแท่นเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า


    ภายในห้องประชุมชั้น 22 ของอาคาร ด้านขวามือของห้องมีชั้นซึ่งวางโมเดลรถประเภทต่างๆ ตั้งเรียงรายอยู่เต็มพื้นที่ ทราบภายหลังว่าทั้งหมดนี้เป็นสินค้าที่เครือซีพีผลิต นำเข้า หรือจัดจำหน่าย ภายใต้การดูแลของ นพดล เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์

    ก่อนหน้านี้นพดลรับผิดชอบนำธุรกิจจากไทยไปลงทุนในจีน เมื่อเครือซีพีเริ่มทำธุรกิจรถยนต์เขาจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลในกลุ่มนี้ด้วย ปัจจุบันเครือซีพีมีธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทย จีน และเมียนมา

    รถยนต์เชิงพาณิชย์แบรนด์ล่าสุดที่เครือซีพีกำลังปลุกปั้นคือ CP FOTON ดำเนินการโดย บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2562 เพื่อนำเข้า ผลิต จำหน่ายและให้บริการเพื่อการพาณิชย์และเทคโนโลยี ทั้งในส่วนรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถพลังงานไฟฟ้า 100% (EV)

    ปัจจุบัน บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด จำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถเพื่อการพาณิชย์ ครอบคลุมตั้งแต่รถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดกลาง รถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถบัสโดยสาร โดยรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่จำหน่าย ประกอบด้วย รถบรรทุกหัวลากขนาดใหญ่ เป็นรถบรรทุก 6 ล้อที่ใช้ในงานขนส่งขนาดใหญ่ขนาดกลาง และขนาดเล็ก, รถบรรทุก 4 ล้อ Aumark Flex, รถบรรทุกผสมคอนกรีตขนาด 3 คิว และ 6 คิว ส่วนรถไฟฟ้าเป็นรถขนาด 4 ล้อ 6 ล้อ และ 10 ล้อ


    ล่าสุดได้ร่วมกับโฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป และ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด จัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถบรรทุก ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท โฟตอน ซีพี มอเตอร์ จำกัด

    โดยจะเริ่มไลน์การผลิตภายในกลางปี 2567 ในเฟสแรกระยะ 5 ปี โรงงานสามารถรองรับการผลิตได้ปีละ 2,000- 3,000 คัน โดยจะผลิตและประกอบรถเครื่องยนต์สันดาป รถ 4 ล้อ 6 ล้อ และ 10 ล้อ ส่วนรถ EV ยังเป็นการนำเข้า แต่ในอนาคตจะผลิตที่โรงงานเช่นกัน

ชูจุดเด่นบริการหลังการขาย

    ตลาดรถบรรทุกในไทยมียอดขายปีละประมาณ 30,000 คัน โดยแบรนด์ที่ครองมาร์เก็ตแชร์ 3 อันดับแรกคือ Isuzu, Hino และ FUSO ซึ่งนพดลคาดว่าภายใน 1-3 ปี CP FOTON จะสามารถเบียดขึ้นมาเป็นอันดับ 3 แทน FUSO ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ารัฐบาลยังคงนโยบายบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2567 เป็นต้นไป


    การให้บริษัทรถยนต์ยกระดับเครื่องยนต์จากยูโร 4 เป็นยูโร 5 หมายความว่าจะลดฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ลงได้ถึง 5 เท่า เนื่องจากค่ายรถญี่ปุ่นยังใช้เครื่องยนต์รุ่นเก่า การบังคับใช้มาตรการข้างต้นทำให้ต้องปรับปรุงท่อไอเสียและเครื่องยนต์ ส่งผลให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น และนั่นเป็นข้อได้เปรียบของ CP FOTON

    ทั้งนี้ ปี 2564 บริษัทมียอดขายรวม 310 คัน ขณะที่ปี 2565 มีอัตราการเติบโต 50% จากปีก่อนหน้า สำหรับปี 2566 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 900 คัน มูลค่ารวมกว่าพันล้านบาทซึ่งนพดลมั่นใจว่าเป็นไปได้


    “ผมไม่กลัวค่ายญี่ปุ่น ถ้ากลัวก็ไม่ทำหรอกครับ ผมจะแซง Hino, Isuzu ให้ได้ ส่วนการเติบโตขึ้นอยู่กับ GDP ของประเทศไทยที่มีขึ้นมีลง แต่เราจะเป็นอันดับ 1 ให้ได้ เราพยายามโตให้ได้ 10,000 คันต่อปี...รถพาณิชย์ใช้เพื่อทำเงิน เราต้องให้ความมั่นใจกับคู่ค้า ลูกค้า ว่ารถไม่มีปัญหา เราไม่ทิ้งผู้บริโภครายย่อย ไม่งั้นไม่ใส่แบรนด์ CP ใน FOTON เราการันตีว่าอยู่ยาวแน่นอน”


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ SINO ผสานน่านน้ำการค้าโลก

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine