Afresh ผนึกกำลังเทคโนโลยี แก้ปัญหาขยะอาหาร - Forbes Thailand

Afresh ผนึกกำลังเทคโนโลยี แก้ปัญหาขยะอาหาร

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Feb 2024 | 09:00 AM
READ 1908

ขยะอาหารสร้างความสูญเสียให้กับบรรดาซูเปอร์มาเก็ตคิดเป็นมูลค่า 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในทุกๆ ปี และ Afresh กำลังทำให้ตัวเลขนี้ลดลง


    Albertsons ต้องการขายราสป์เบอร์รี่สด ไม่ใช่ราสป์เบอร์รี่ที่นุ่มนิ่มและเสียรูปทรง หรืออยู่ในสภาพไม่ดี หรือจะกินไม่ได้เลยในวันหลังจากคุณนำมันออกมาจากตู้เย็น แต่ราสป์เบอร์รี่ที่ห้างแห่งนี้จะขายนั้นต้องมีสีแดง ฉ่ำ และอร่อยมันยากอย่างน่าประหลาดใจที่จะเอาชนะได้ ในอดีตผู้จัดการร้านจะทำการประเมินให้ดีที่สุดก่อนจะตัดสินใจว่าจะสั่งซื้อผลไม้นี้จำนวนเท่าไร หากน้อยเกินไปลูกค้าก็จะออกจากร้านไปด้วยมือเปล่า และหากมากเกินไปราสป์เบอร์รี่ก็จะถูกวางขายอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานเกินไปจนเกิดการเน่าเสียได้

    “ที่ผ่านมาการสั่งซื้อผักและผลไม้สดเป็นกระบวนการทำงานของคนผ่านทักษะต่างๆ นั่นก็หมายความว่า มีความเป็นไปได้มากที่ร้านค้าต่างๆ จะประเมินชนิดและจำนวนของผักและผลไม้ที่ลูกค้าต้องการผิดพลาดได้” Suzanne Long ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืน Albertsons กล่าว

    Albertsons จากเมือง Boise รัฐ Idaho หนึ่งในซูเปอร์-มาร์เก็ตใหญ่ที่สุดของประเทศด้วยรายได้ต่อปีอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านเหรียญได้เริ่มนำซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากสตาร์ทอัพที่ชื่อ Afresh Technologies มาใช้กับทุกห้างภายในเครือตั้งแต่ปี 2022 เพื่อช่วยในการคาดการณ์ความต้องการ และวางคำสั่งซื้อสินค้าประเภทอาหารซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเน่าเสียเร็วสุดอย่างกล้วย พริกหยวก และสลัดบรรจุถุง

    ปัจจุบัน Albertsons ได้วางคำสั่งซื้อบ่อยขึ้นแต่ด้วยจำนวนที่ลดน้อยลงในแต่ละครั้ง

    “เราพยายามที่จะให้มีสินค้าเต็มชั้นและไม่มีของเหลือในห้องหลังร้านเพื่อรอรถบรรทุกคันถัดไปจะเข้ามา” Matt Schwartz ซีอีโอ Afresh กล่าว

    Afresh จาก Francisco ซึ่งเริ่มกิจการในปี 2017 ยังเป็นธุรกิจเพิ่งเริ่มต้น Forbes ประเมินว่า บริษัทแห่งนี้มีรายได้ในปี 2022 ไม่ถึง 10 ล้านเหรียญ แต่ตัวเลขนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยเงินจากการระดุมทุน 150 ล้านเหรียญจาก Insight Partners และบริษัทเงินร่วมลงทุน (VC) ระดับชั้นนำได้ทำให้ Afresh เปิดตัวซอฟต์แวร์อย่างเป็นทางการให้กับ 3,300 ห้าง ซึ่งรวมไปด้วย Albertsons (ธุรกิจของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการให้บริการสาขาของห้างแห่งนี้), WinCo Foods และ Fresh Thyme

    โดยพนักงานของซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละแห่งนี้จะมีไอแพดเป็นเครื่องมือใช้ดูจำนวนไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ล หัวบร็อกโคลี หรือมะเขือเทศเชอร์รี่ว่ามีเหลือวางขายบนชั้นอีกเท่าไร และจากนั้นก็จะพิจารณาจากคำแนะนำแบบอัตโนมัติอีกครั้งว่าจะสั่งเพิ่มอีกเท่าไร


Matt Schwartz ซีอีโอ Afresh


    ปัจจุบันมีซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวนมากขึ้นที่นำเทคโนโลยีประเภทนี้ไปใช้เพื่อลดปริมานอาหารที่เหลือทิ้งในแต่ละปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 2.8 หมื่นล้านเหรียญตามที่ ReFED ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้ติดตามเรื่องของขยะอาหารได้คาดการณ์ไว้ Schwartz บอกว่า ถ้าห้างต่างๆ มีแนวโน้มผิดพลาดด้วยการสั่งซื้อมากเกินไป นั่นก็หมายความว่าพวกเขาจะทิ้งอาหารสดถึง 5-6% และตัวเลขนี้สามารถเพิ่มเป็น 2 เท่าในหมวดอาหารสำเร็จ

    สิ่งนี้นอกจากเป็นเรื่องไม่ดีกับสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่มันยังเป็นเรื่องไม่ดีกับธุรกิจอีกด้วย เพราะนั่นหมายถึงเกิดการสูญเสียรายได้และมีผลกำไรที่ลดลง

    Afresh กล่าวว่า โดยปกติลูกค้าของบริษัทลดขยะอาหารลงได้ 1 ใน 4 ซึ่งสามารถเพิ่มกำไรจากการดำเนินงานในแผนกอาหารได้ราว 40% และสามารถสร้างผลกำไรได้หลายสิบล้านเหรียญหรือหลายร้อยล้านเหรียญ

    “พวกเราบอกประธานเจ้าหน้าที่การเงินไปว่าคุณจะพิชิตตัวเลขของคุณได้เป็นผลสำเร็จ” Schwartz กล่าว

    นั่นเป็นคำกล่าวต้อนรับในห้วงเวลาที่บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งมีชื่อเสียงในทางไม่ดีว่ามีกำไรที่เบาบางกำลังต่อสู้กับต้นทุนของอาหารที่สูงขึ้น Albertsons ซึ่งมีแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ภายใต้กลุ่มอย่าง Safeways, Vons และ Jewel-Osco และได้ประกาศแผนที่จะควบรวมกิจการกับ Kroger ได้เปิดตัวซอฟต์แวร์ใช้กับห้างเกือบทั้งหมด 2,200 แห่งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2022

    บริษัทกล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทคือ ต้องการลดปริมาณขยะอาหารที่จะนำไปฝังกลบให้ได้ก่อนปี 2030

    “ถ้าคุณสามารถเพิ่มได้ 3-5% ของกำไรขั้นต้นจากสิ่งนี้โดยปราศจากการขึ้นราคาสินค้า นั่นมันมหาศาลนะ” Walter Robb อดีตซีอีโอ Whole Foods ผู้ซึ่งลงทุนใน Afresh กล่าว เพื่อช่วยกับคำสั่งซื้อเหล่านี้

    สตาร์ทอัพแห่งนี้ใช้กองข้อมูลมหึมาเข้ามาช่วยคาดการณ์ความต้องการซึ่งชัดเจนว่ามันทำได้ดีกว่ามนุษย์ทำ เริ่มด้วยประวัติของสินค้ารายการหนึ่งๆ ที่ได้ขายไปหลายปีที่ผ่านมาและจัดเก็บข้อมูลการขายในแต่ละวัน

    นอกจากนี้ ยังต้องหาบรรดาปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับความต้องการ เช่น รายการส่งเสริมการขายที่กำลังจะมาถึง สภาพอากาศ วันหยุด และวันที่บัตรอาหารถูกแจกจ่าย รวมถึงการคาดการณ์ภายในที่มุ่งไปที่รายละเอียดของอายุสินค้าที่จะทำอย่างเลินเล่อไม่ได้ในรายการสินค้าที่เต็มไปด้วยรายละเอียดอย่างอะโวคาโดและลูกพีช ซึ่งบ่อยครั้งที่ซูเปอร์มาเก็ตจะต้องขายแข่งกับเวลา

    นี่เป็นพัฒนาการครั้งใหญ่สำหรับพนักงานที่จัดการดูแลสินค้าทีละสินค้าผ่านการประเมินและปะติดปะต่อข้อมูลจนรู้ว่าจะสั่งแอปเปิ้ลกาล่าจำนวนเท่าไรดีเมื่อเทียบกับแอปเปิ้ลประเภทอื่นๆ อย่าง Honeycrisp, Fuji, Pink Lady และ Granny Smith

    หมายความว่าผักและผลไม้ต่างๆ จะไม่ต้องถูกวางขายนานอีกต่อไปแล้วที่เชนซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Cub จากเมือง Minnesota ที่มีสาขาอยู่ 100 แห่ง โดยซูเปอร์ฯ แห่งนี้ได้นำสินค้าผักและผลไม้เข้าและออกเร็วกว่าเดิม 7% ผู้ประกอบการค้าปลีกรายนี้คุยว่า ได้เห็นการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจที่ 2.5% จากการปรับปรุงระดับของการสต็อกสินค้า

    “จำไว้ว่าค้าปลีกทั้งหมดนั้นมันเกี่ยวกับการมีสินค้าที่ใช่ มีราคาที่ใช่ และในเวลาที่ใช่” Robb กล่าว “นี่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้”


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Colin Huang มุ่งไปตามแผน ครองตลาดอีคอมเมิร์ซ

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine