สิงคโปร์-ซูริก ขึ้นแท่นเมืองค่าครองชีพแพงสุดในโลก ปี 2023 - Forbes Thailand

สิงคโปร์-ซูริก ขึ้นแท่นเมืองค่าครองชีพแพงสุดในโลก ปี 2023

ผลสำรวจ Worldwide Cost of Living โดย EIU ประจำปี 2023 พบว่า ราคาสินค้าทั่วไปกว่า 400 รายการเพิ่มขึ้น 7.4% โดยเฉลี่ย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาจากสกุลเงินท้องถิ่นต่างๆ แต่นับว่าน้อยกว่าปี 2022 ที่เพิ่มขึ้นถึง 8.1% อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวของที่เพิ่มขึ้นยังคงสูงกว่าตัวเลขระหว่างปี 2017-2021


    แม้ผลสำรวจในปีนี้จะครอบคลุมเมืองหลัก 173 แห่งทั่วโลก แต่ทีมงานได้มีการตัดเมืองเคียฟ (ซึ่งไม่ได้มีการสำรวจในปี 2022) และการากัส (ที่กำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรงอย่างต่อเนื่อง) ออกไปจากการคำนวณหาค่าเฉลี่ย เช่นเดียวกับปีก่อนหน้า

    สิงคโปร์และซูริกคือสองเมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุดประจำปีนี้ โดยซูริกขยับขึ้นจากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้วมาเข้าร่วมกับสิงคโปร์แทนที่นิวยอร์กที่ตกลงไปอันดับ 3

    สำหรับสาเหตุที่ซูริกหวนคืนสู่อันดับ 1 เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก สืบเนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินฟรังก์สวิส และการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภครวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการ

    ในภาพรวม 10 อันดับแรกของเมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุดในปี มีดังต่อไปนี้

    1. ซูริก, สวิตเซอร์แลนด์ และ สิงคโปร์ (อันดับร่วม)

    3. นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา และ เจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ (อันดับร่วม)

    5. ฮ่องกง

    6. ลอสแอนเจลิส, สหรัฐอเมริกา

    7. ปารีส, ฝรั่งเศส

    8. เทลอาวีฟ, อิสราเอล และ โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก (อันดับร่วม)

    10. ซานฟรานซิสโก, สหรัฐอเมริกา

    ทั้งนี้ การสำรวจนี้จัดทำขึ้นก่อนสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราการแลกเปลี่ยนในอิสราเอล และอาจส่งผลต่อราคาทำให้ให้การจัดหาสินค้าต่างๆ ในเทลอาวีฟเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

    ค่าสาธารณูปโภค (ค่าพลังงานและค่าน้ำในครัวเรือน) ทั่วโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อช้าที่สุดเทียบกับค่าใช้จ่ายหมวดหมู่อื่นที่ได้จัดจำแนกไว้ในการสำรวจครั้งนี้ แม้ในปี 2022 ค่าสาธารณูปโภคจะเป็นหมวดหมู่ที่มีราคาเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดก็ตาม ซึ่งการที่ค่าดังกล่าวปรับตัวลดลงน่าจะเป็นผลจากการที่ราคาพลังงานซึ่งเคยพุ่งทะยานเมื่อครั้งรัสเซียบุกยูเครนนั้นลดลงมา

    ตรงกันข้าม หมวดหมู่สินค้าบริโภคมีราคาเพิ่มขึ้นไวที่สุด ภาวะเงินเฟ้อในอาหารทั่วโลกนั้นยากจะคลี่คลาย เมื่อบรรดาผู้ผลิตและค้าปลีกเลือกส่งต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แก่ผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคา อีกทั้งเหตุการณ์ต่างๆ อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงได้เพิ่มความเสี่ยงแก่ฝั่งผู้จัดหาวัตถุดิบอย่างหนัก

    ทาง EIU ประเมินว่า นอกเหนือจากการลดความตึงเครียดในการผลิตวัตถุดิบแล้ว นโยบายการเงินอันเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อในประเทศ โดยยังระบุอีกว่า เงินต่างประเทศหลายสกุลมีค่าเงินแข็งกว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2023

    สองปัจจัยนี้เองทำให้เมืองในสหรัฐฯ 22 แห่งที่มีการเก็บข้อมูลมีอันดับลดลง แม้นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส และซานฟรานซิสโกจะยังรั้งอยู่ใน 10 อันดับแรกก็ตาม โดยค่าครองชีพในนิวยอร์กเพิ่มขึ้น 1.9% สินค้าบริโภค เช่น ไข่ และเนื้อวัว ตลอดจนกิจกรรมสันทนาการมีราคาสูงขึ้น แต่หมวดหมู่อื่นๆ เช่น น้ำมัน และเสื้อผ้า ยังคงทรงตัว

    ตรงกันข้าม เมืองต่างๆ ในละตินอเมริกาและยุโรปตะวันตกกลับมีค่าครองชีพสูงขึ้น เมืองในเม็กซิโกอย่างซานเตียโกเดเกเรตาโรและอากวัสกาเลียนเตสไต่ขึ้นมากอันดับที่สุด ด้วยค่าเงินเปโซที่กลับกลายเป็นสกุลเงินแข็งที่สุดในตลาดเกิดใหม่ของปี 2023 ซ้ำยังได้แรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและการลงทุนภายในประเทศที่แข็งแกร่ง

    ฝั่งยุโรป เมืองต่างๆ มีอันดับสูงขึ้นเช่นกัน ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ดูจะไม่บรรเทาลงโดยง่าย ตลอดจนค่าเงินยูโรและสกุลเงินท้องถิ่นอื่นๆ ในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้น

    ค่าครองชีพฝั่งเอเชียดูจะมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดโดยเฉลี่ย สี่เมืองในประเทศจีน (หนานจิง, อู๋ซี, ต้าเหลียน และปักกิ่ง) กับสองเมืองในญี่ปุ่น (โอซาก้าและโตเกียว) คือบรรดาเมืองที่มีอันดับตกลงอย่างมากในปีนี้

    “การเปลี่ยนแปลงราคาอย่างรุนแรงในฝั่งผู้จัดหาวัตถุดิบซึ่งพาให้ค่าครองชีพในปี 2021-2022 พุ่งขึ้น กลับเบาบางลงหลังจีนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2022 ในขณะที่การขึ้นราคาพลังงานหลังรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ก็บรรเทาลงเช่นกัน”

    Upasana Dutt หัวหน้า Worldwide Cost of Living ของ EIU กล่าว

    “อย่างไรก็ตาม วิกฤตค่าครองชีพยังคงยากจะยุติ และตัวเลขค่าครองชีพยังคงสูงกว่าในอดีตมาก เราคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะยังชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2024 ขณะที่ผลกระทบที่ล่าช้าของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเริ่มจะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการของผู้บริโภคตามลำดับ”

    ทว่ายังคงมีความเสี่ยงอีกด้าน สถานการณ์อิสราเอล-ฮามาสที่บานปลายอาจพาราคาพลังงานพุ่งสูง ส่วนผลกระทบใหญ่หลวงเกินคาดของภาวะเอลนีโญ่อาจดันราคาอาหารให้แพงขึ้นเช่นกัน”


แปลและเรียบเรียงจาก Worldwide Cost of Living: Singapore and Zurich top the ranking as the world’s most expensive cities


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ส่องเงินเดือนปี 67 ปรับเพิ่ม 15-25% องค์กรพร้อมทุ่มซื้อใจพนักงาน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine