‘กานติมา เลอเลิศยุติธรรม’ นำทัพเอไอเอสสู่ยุค Digital Tranformaion - Forbes Thailand

‘กานติมา เลอเลิศยุติธรรม’ นำทัพเอไอเอสสู่ยุค Digital Tranformaion

‘องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ’ ยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Digital Tranformaion การพัฒนาคนยิ่งเป็นหัวใจสำคัญ กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส และกลุ่มอินทัช ผู้เปลี่ยนเกมนำการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์นำองค์กรสู่ความสำเร็จ

Forbes Thailand มีนัดพูดคุยกับ กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส และกลุ่มอินทัช ที่ห้องสมุดของบริษัท ชั้น 12 อาคารเอไอเอส 1 ถนนพหลโยธิน เป็นห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือสักเล่ม เพราะเป็นห้องสมุดดิจิทัลที่เต็มไปด้วยคลังข้อมูลดิจิทัล ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ แม้ส่วนตัวเธอจะยอมรับว่ายังอ่านหนังสือแบบแอนะล็อกอยู่ก็ตาม แต่องค์กรจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของบุคลากรที่เปลี่ยนแปลงไป ในยุคที่งานพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นเหมือนงานธุรการที่อยู่แต่เบื้องหลังของแต่ละบริษัท แต่ กานติมา เลอเลิศยุติธรรม กลับเลือกเรียนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพราะอยากเข้าใจกระบวนการทำงาน วิธีคิดของคน ซึ่งขณะนั้นเอง เธอเล็งเห็นว่าคนเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดขององค์กร หลังจากจบปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ จึงไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้าน Counseling Psychology จาก Rider University รัฐ New Jersey สหรัฐอเมริกา หลังเรียนจบกลับมา กานติมา ได้ทำงานกับระดับปรมาจารย์ด้านการเงินการธนาคารอย่างหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ หม่อมอุ๋ย ที่ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และเป็นที่ที่เธอได้ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาอย่างเต็มที่ เพราะหม่อมอุ๋ย เห็นว่าเธอมีความคิดที่แปลกและแตกต่าง โดยเฉพาะในการพัฒนาคนที่จะต้องค้นหาเหตุผล ว่าสิ่งที่แต่ละคนทำนั้น เพราะอะไร และเพื่ออะไร ตามแนวทาง “As the way they are” “สิ่งที่เราทำเป็นการฉีกกรอบแนวทางการทำงานแบบเดิมๆ ทั้งกระบวนการคิด และขั้นตอนการทำงาน แต่โชคดีมีเจ้านายที่เข้าใจและให้โอกาส จึงทำให้เรามีความเชื่อมั่น และมีจิตใจที่เข้มแข็งในการดำเนินตามแนวทางของตัวเอง โดยยึดมั่นอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรม” กานติมา บอกเล่าถึงช่วงเริ่มต้นในการทำงาน และยึดมั่นในแนวทางการนำการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมาเป็นยุทธศาสตร์หลักขององค์กร นอกจาก EXIM BANK แล้ว กานติมา มีโอกาสทำงานกับภาคธุรกิจชั้นนำที่หลากหลาย ทั้งไมโครซอฟท์ เอไอจี และพรูเดนเชียล ธุรกิจค้าปลีกที่วัตสัน และแม็ค กรุ๊ป เหตุผลที่เธอทำงานกับบริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรม ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งของที่เดิม แต่ก็ได้สร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย ก่อนร่วมงานกับเอไอเอส ในตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อรับมือกับดิจิทัล ดิสรัปชั่น รับมือกับ Digital Tranformation เธอเข้าร่วมงานกับเอไอเอส เมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพของธุรกิจหลายด้าน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจโทรคมนาคม เอไอเอสจะต้องเปลี่ยนเกมจากการเป็นโอเปอเรเตอร์ และก้าวสู่การเป็นดิจิทัล เซอร์วิสอย่างเต็มตัว เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ “แม้เอไอเอส จะอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน มีคนรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น และมีความต้องการที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นถึงเวลาที่บุคลากรก็ต้องเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ยิ่งเมื่อเราจะก้าวไปสู่การเป็นดิจิทัล เซอร์วิส ยิ่งต้องมีความรู้ และมีความประสบการณ์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมบริการให้สอดรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ให้ได้” กานติมา เล่าถึงโจทย์ที่ได้รับหลังจากก้าวเข้ามาที่เอไอเอส กานติมา เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการ Tranformation ของเอไอเอส ในส่วนของคนและวัฒนธรรมองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรในการปรับตัวท่ามกลางกระแสการถูก interrupt ด้วยเทคโนโลยี จึงจัดตั้ง AIS Academy ขึ้น เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรของเอไอเอส โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับนานาชาติ เช่น MIT, Havard Business School และ Stanford University เป็นต้น “สิ่งที่เจอ คือมรสุมลูกใหญ่มาก” เธอกล่าวถึงสิ่งที่เจอเมื่อลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงที่เอไอเอส พร้อมกับอธิบายต่อถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงองค์กรที่แข็งแรงอย่างเอไอเอส ก็ต้องมีคำถามว่าทำไม แต่โชคดีที่ผู้บริหาร (สมชัย เลิศสุทธิวงค์) เข้าใจและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพนักงานในองค์กร “สิ่งนี้สำคัญที่สุด” เธอกล่าว และเมื่อผู้บริหารเข้าใจและยอมเปลี่ยน ถือเป็นสปิริตที่พนักงานจะยินดีให้ความร่วมมือ เธอเปลี่ยนจากระบบฝึกอบรม เป็นการเปิด Academy สร้างระบบการเรียนรู้ ผ่าน E–Learning System เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับพนักงานในองค์กร ซึ่งระบบดังกล่าวไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เรียนรู้ได้ คนรุ่นเดิมบางคนก็เกิดการเรียนรู้ และไปต่อได้ แน่นอนการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดการผลัดใบ และผู้ที่อยู่ต่อก็มีทั้งคนรุ่นเดิมและคนรุ่นใหม่ ที่ผสมผสานเป็นทีมที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า ด้วยแนวคิดใหม่ที่มุ่งสร้างการเติบโตให้องค์กร ผลที่เกิดขึ้น เห็นชัดเจนในช่วงที่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่พนักงานของเอไอเอส พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถทำงานได้โดยไม่สะดุด ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้เทคโนโลยี แต่คนก็มีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถเชื่อมต่อระหว่างกัน เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างราบรื่น   กานติมา เลอเลิศยุติธรรม มุ่งภารกิจคิดเผื่อประเทศไทย นอกจากพัฒนาบุคลากรในองค์กรแล้ว ยังมุ่งพัฒนาคนนอกองค์กรไปด้วย ภายใต้แนวคิดที่ว่า “บริษัทจะเติบโตได้ ประเทศต้องเติบโตไปด้วย” ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ Academy for Thai ภารกิจคิดเผื่อเพื่อคนไทย : JUMP THAILAND ช่วยเหลือคนตกงานในช่วงโควิด รวมถึงการพัฒนา EdTech ร่วมสร้างแพลตฟอร์มทางการศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้คนไทย ทำให้คนไทยเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการศึกษาได้ในราคาไม่แพง สำหรับ 3 แกนสำคัญที่เอไอเอส ได้นำเสนอภายใต้ภารกิจคิดเผื่อเพื่อคนไทย และการกระโดดข้ามการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ JUMP to Innovation: การกระโดดข้ามความเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างนวัตกรรม JUMP Over the Challenge: การกระโดดข้ามความท้าทายด้วยการปรับตัวสู่อาชีพและโอกาสการทำธุรกิจใหม่ภายใต้การช่วยเหลือและโค้ชชิ่งของทีม ‘อุ่นใจอาสา’ JUMP with EdTech: การกระโดดข้ามด้วยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มด้านการศึกษา เพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยการยกระดับขีดศักยภาพความสามารถ “ทั้งบอร์ด และคณะผู้บริหาร มีความเชื่อร่วมกันว่า ประเทศจะเติบโตได้ สมาชิกของสังคมจะต้องเติบโตไปด้วยกัน บริษัทจึงมุ่งสร้างกิจกรรมที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม เพราะมองว่าการโตเพียงผู้เดียว ไม่ยั่งยืน ต้องทำให้คนไทยเติบโตไปด้วยกัน” กานติมาระบุ ‘กานติมา เลอเลิศยุติธรรม’ HR ต้องนำองค์กร ในฐานะนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่มีประสบการณ์กว่า 22 ปี กานติมา เห็นว่า การที่องค์กรจะพัฒนาอย่างยั่งยืน การนำ HR มาวางเป็นยุทธศาสตร์หลักในการนำองค์กรมีส่วนสำคัญมาก HR ไม่ได้เดินตามหลังเหมือนในอดีต แต่ HR ต้องเดินคู่ไปกับองค์กร และบางครั้ง HR ต้องนำองค์กรเพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต กานติมา มองว่า ทักษะสำคัญที่จำเป็นสำหรับยุคนี้ ประการแรกที่สำคัญที่สุด คือความสามารถในการปรับตัว คนที่จะก้าวไปข้างหน้าได้จะต้องปรับตัวเร็ว ไม่ใช่การก้าวข้ามภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้น แต่ต้องเตรียมรับมือกับโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ จะมีคนอยู่สองกลุ่ม คือ ไปข้างหน้า หรือ ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เราทุกคนต้องเลือกเอง ประการที่สอง ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยน โรงเรียนต้องฝึกคนให้ทำงานได้ ไม่ใช่มุ่งแค่การได้รับใบประกาศนียบัตร ปริญญา แต่จบออกมาไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งเรื่องการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันสร้างทักษะ ความสามารถในการทำงานให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ ที่จะจบออกมาสู่ตลาดแรงงาน สุดท้าย การเรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ คนรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนตัวเอง เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เรียนรู้เรื่องใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “ถึงเวลาที่องค์กรไทย จะลุกขึ้นมาวางยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นเป้าหมายหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร และประเทศชาติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในยุค Digital Tranformation และต้องร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” นี่คือแง่คิดจาก กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นักบริหารทรัพยากรบุคคลดีเด่น และสตรีตัวอย่างแห่งปี ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมไทย
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine