เลือกตั้ง 66 TikTok มาแรง ครองยอด Engagement สูงสุด 63% - Forbes Thailand

เลือกตั้ง 66 TikTok มาแรง ครองยอด Engagement สูงสุด 63%

โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่มีบทบาทไม่น้อยไปกว่าการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 ผลการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ในสังคมออนไลน์โดยบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด พบว่า ติ๊กต๊อก (TikTok) เป็นสื่อที่มียอดการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุดบนโซเชียลมีเดียถึง 63% ตามมาด้วยเฟซบุ๊ก 18% และทวิตเตอร์ 15%


    ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 คือบทพิสูจน์ว่า ณ วันนี้ บริบททางสังคมและการเมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว เรามิอาจมองข้ามเสียงของสังคม (Social Listening) บนโลกออนไลน์ได้อีกต่อไป

    บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์จากการฟังเสียงประชาชนในสังคมออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม DXT360 โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16 เมษายน-15 พฤษภาคม 2566 พบว่า มีการกล่าวถึง (Mention) และ การมีส่วนร่วม (Engagement) ในเรื่องการเลือกตั้งสูงถึง 297,603,177 ครั้ง แบ่งเป็นการกล่าวถึงและมีส่วนร่วมผ่านแพลตฟอร์ม TikTok จำนวน 63%, Facebook 18%, Twitter 15%, Instagram 3% และ YouTube 1%

TikTok มาแรง เป็นช่องทางที่มียอด Engagement สูงสุด


    TikTok : มีการกล่าวถึงและการมีส่วนร่วม ( Mention & Engagement) หรือ Buzz สูงสุดถึง 186,393,775 ครั้ง คิดเป็น 63% จากทั้งหมด ถึงแม้ว่าใน TikTok จะมีจำนวนการกล่าวถึง (Mention) น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น 

    แต่บน Tiktok สร้าง Engagement จากการมีส่วนร่วมได้สูงมาก จากการกด Like, กดแชร์คลิปวิดีโอ รวมถึงการแสดงความคิดเห็น (Comments) ต่างๆ โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คลิปวิดีโอสั้น บน TikTok มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นพื้นที่โปรโมทประชาสัมพันธ์ให้แก่พรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งกระแสในด้านบวกและลบ

    Facebook : เป็นช่องทางที่กวาด Buzz ในลำดับรองลงมาอยู่ที่ 54,729,106 ครั้ง คิดเป็น 18% เนื่องจากการที่ผู้คนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและกด react กันอย่างล้นหลาม และต้องการติดตามช่องทางที่เป็นแหล่งรวมสื่อสำนักข่าวต่างๆ โดยพบว่า เพจ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ และ เพจ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว’ ได้รับ Engagement รวมกันไปกว่า 8 ล้านครั้งตลอดเดือนที่ผ่านมา สำหรับประเด็นเลือกตั้งครั้งนี้

    Twitter : ได้รับ Buzz อยู่ที่ลำดับ 3 จำนวน 45,026,759 ครั้ง คิดเป็น 15% ซึ่งน้อยกว่า TikTok และ Facebook แต่ในส่วนของการกล่าวถึงช่องทาง Twitter นั้นได้รับสัดส่วนมากที่สุดจากช่องทางทั้งหมด เนื่องจากผู้ใช้งาน Twitter มักแสดงความคิดเห็นโดยการโพสต์ทวีตซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าช่องทางอื่นๆ เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการติดตามข่าวสารและรายงานสถานการณ์สด ในประเด็นการเลือกตั้ง 66 ที่เป็นกระแสที่มีความรวดเร็วและต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

    Instagram : ได้รับ Buzz จำนวน 7,468,309 ครั้ง คิดเป็น 3% เนื่องจากคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในส่วนของ การปราศรัย หรือการดีเบตผ่านเวทีต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมในการรับชมผ่านวิดีโอ ซึ่งไม่ค่อยตอบโจทย์สำหรับช่องทาง Instagram ที่เด่นในด้านสื่อที่เป็นรูปภาพ

    YouTube : ในช่องทาง YouTube ที่ถือได้ว่าเป็นช่องหลักในส่วนของสื่อวิดีโอ แต่ได้รับ Buzz น้อยที่สุดอยู่ที่ 3,985,168 คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ เนื่องจาก Facebook และ TikTok ได้เริ่มมีการขยายตัวในด้านสื่อวิดีโอมากขึ้น เช่น Live คลิปสั้น Highlight จากการสัมภาษณ์หรือเวทีดีเบต ซึ่งเป็นสื่อวิดีโอที่มีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น ทำให้เข้าถึงง่าย แตกต่างกับ YouTube ที่ต้องการระยะเวลาในการรับชมที่นานกว่า


“ก้าวไกล” กระแสโซเชียลดีทั้งคนทั้งพรรค

    การเลือกตั้ง 66 ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะกระแสบนโซเชียลที่การกล่าวถึงการเลือกตั้ง 66 พรรคการเมือง นโยบาย รวมถึงแคนดิเดต สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวถึงและได้รับความสนใจมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
1. พรรคก้าวไกล
2. พรรคเพื่อไทย
3. พรรครวมไทยสร้างชาติ
4. พรรคภูมิใจไทย
5. พรรคพลังประชารัฐ


    นอกจากพรรคการเมืองแล้ว แคนดิเดตที่จะก้าวขึ้นเป็นนายกคนที่ 30 ของประเทศไทยก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน โดยชื่อที่ถูกกล่าวถึงและได้รับความสนใจมากที่สุดบนโซเชียล ได้แก่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามด้วย ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร และ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามลำดับ


    ทั้งนี้ จากการรวบรวมและวิเคราะห์หา Insight ในประเด็นการเลือกตั้ง เห็นได้ว่ากระแสความตื่นตัวของประชาชนคนไทยที่มีต่อการเลือกตั้งปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงของคนส่วนใหญ่และการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนบนสังคมออนไลน์ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า เสียงบนโซเชียลที่มีต่อความนิยมชื่นชอบในตัว ‘พิธา’ และ พรรคก้าวไกล ได้แปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงจริงให้แก่พรรคก้าวไกลจนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้



อ่านเพิ่มเติม: ​การเมืองกดดันเศรษฐกิจในประเทศ-หุ้นไทยปรับฐาน


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine