ถึงคราวพิสูจน์ “ภัตตาคารฟูจิ” ไม่ได้เก่งแค่อาหารญี่ปุ่น “ทนา กรุ๊ป” พร้อมลุย “ภัตตาคารอาหารไทย” เปิด “ชอบ บราสเซอรี่” แบรนด์ลูกปักหมุดทำเลสแตนอโลนแหล่งท่องเที่ยว ตาม Road Map เน้นขยายโรงแรมเพิ่มใน 3-5 ปี สาขาแรกเปิดแล้วที่ “ทนา สปริง รีสอร์ท” ที่พักพร้อมออนเซ็นสปาแบบฉบับญี่ปุ่นที่เชียงราย
เมื่อนึกถึงอาหารญี่ปุ่น กลุ่มแบรนด์อาหารภายใต้ ทนา กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่คนไทยจะนึกถึงในอันดับต้นๆ น่าจะมีเพียง ฟูจิ และ โคโค่ อิฉิบันยะ ร้านแกงกะหรี่ญี่ปุ่น ทั้งที่ยังมีแบรนด์อื่นๆ ภายใต้การบริหารของ ทนา กรุ๊ป อีกหลายแบรนด์อาทิ ชอบ บราสเซอรี่, ฟูจิ ควิค, และ โคโค่ อิฉิบันยะ เอ็กซ์เพรส ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบริการด่วน
การเปิด “ชอบ บราสเซอรี่” ภัตตาคารอาหารไทยลูกผสมเมื่อไม่นานมานี้ น่าจับตามองเพราะ ทนา กรุ๊ป ไม่ได้มาแบบเริ่มต้นจากศูนย์ แต่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจอาหารไทยในเมืองไทยมากว่า 50 ปีก่อนที่จะขายให้กับนักลงทุนรายอื่นไป (ปัจจุบันร้านดังกล่าวยังเปิดบริการอยู่ในศูนย์การค้าชั้นนำ) นอกจากนี้ ทนา กรุ๊ป ยังเคยเปิดร้านอาหารไทยหลายสาขาขายคนญี่ปุ่นในญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ชื่อ “แบงค็อก คิทเช่น” อีกกว่า 20 ปี
รวิวัลย์ ทานาก้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟินิท ครีเอชั่น จำกัด ที่ดูแลการตลาดของฟูจิ พ่วงด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ทนา กรุ๊ป บอกว่า “ชอบ บราสเซอรี่” แบรนด์ภัตตาคารร้านอาหารน้องใหม่ล่าสุดภายใต้กลุ่ม “ภัตตาคารฟูจิ” ได้เปิดตัวสาขาแรกที่ “ทนา สปริง รีสอร์ท” ซึ่งตั้งบนพื้นที่กว่า 20 ไร่ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ภัตตาคาร “ชอบ บราสเซอรี่” มีที่นั่งสองชั้นตกแต่งสไตล์ยุโรป ขายอาหาร Fusion ผสมระหว่างไทย ญี่ปุ่น และตะวันตก เน้นอาหารจานเดียวที่ไม่เหมือนอาหารร้านทั่วๆไป เช่น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวากิว สปาเก็ตตี้กุ้งแม่น้ำ สลัดเนื้อสันออสเตรเลีย “ชอบ บราสเซอรี่” ถูกวางตำแหน่งเป็น Destination restaurant คือเป็นทั้งร้านอาหารและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเชียงรายไปในตัว คนที่มาทานอาหารที่นี่ สามารถชมทิวทัศน์ภูเขา แช่เท้าสปาออนเซ็นในบริเวณของภัตตาคาร และเข้าชม Japanese Collectible Gallery ที่เป็นห้องสะสมของญี่ปุ่นหาดูยาก แต่ละชิ้นเป็นของรักของหวงของเจ้าของร้านที่สะสมมากว่า 50 ปี และมีห้องชงชาไว้ทำกิจกรรมพิเศษ
“ร้านอาหารของ ชอบ บราสเซอรี่ จะคงเน้นคุณภาพอาหารเหมือนแบรนด์อื่นๆ ในเครือ ก่อนโปรโมทแบรนด์นี้ เราต้องทดลองเมนูต่างๆ ให้มั่นใจ เราไม่ Move เร็ว หากยังไม่เสถียรและยังทดลองไม่พอ ถ้าอาหารและบริการไม่นิ่ง เราจะยังไม่โปรโมทกับลูกค้า” รวิวัลย์กล่าว

เธอบอกต่อว่า คนมักจะนึกว่ากลุ่มฟูจิทำเป็นแต่อาหารญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้วฟูจิเคยทำร้านอาหารไทยชื่อแบงค็อก คิทเช่น ในโตเกียวมาประมาณ 20 ปีแล้ว และร้านนี้เป็นร้านอาหารไทยที่คนญี่ปุ่นรู้จักและได้รับความนิยมมาก ด้วยความที่เคยทำร้านอาหารไทยมาก่อนเมื่อกว่า 50 ปีในเมืองไทย ไอเดียในการกลับมาเปิดร้านอาหารไทยในเมืองไทยอีกครั้จึงเกิดขึ้นภายหลังจากการระบาดของโควิด
“ชอบ บราสเซอรี่ จะเป็น Destination Restaurant ที่จะเปิดตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเมืองไทย เริ่มจากที่เชียงรายเป็นแห่งแรก ชอบฯ จะไม่ใช่เชนร้านอาหารไทยที่เปิดในห้าง แต่จะเป็นร้านอาหารสแตนอโลนที่เปิดตามการขยายตัวของโรงแรมของเรา” รวิวัลย์บอกและกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเปิด “ชอบ บราสเซอรี่” กี่แห่งในกี่ปี เพราะทนา กรุ๊ป ทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ช้าแต่ชัวร์
ปัจจุบัน ทนา กรุ๊ป มีร้านอาหารเกือบ 200 สาขาทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็นภัตตาคารฟูจิ 100 สาขา ร้านโคโค่ อิฉิบันยะ 50 สาขา ที่เหลือเป็นร้านอาหารฟูจิในกัมพูชา 2 สาขา ในลาว 1 สาขา และร้านโคโค่ อิฉิบันยะ ในสิงคโปร์อีก 3-4 สาขา
เล็งเจาะโรงพยาบาลและปั๊มน้ำมัน
ไม่ว่าเศรษฐกิจหรือสภาพตลาดจะเอื้อมากน้อยแค่ไหน รวิวัลย์บอกว่า ปีนี้ ทนา กรุ๊ป ยังเปิดสาขาใหม่ตามปกติ แต่อาจจะหาน่านน้ำใหม่ที่ไม่ใช่แค่ห้างสรรพสินค้า บริษัทเล็งเห็นโอกาสที่จะเปิดร้านอาหารตามโรงพยาบาล เพราะอาหารของฟูจิตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ และที่สำคัญมีคู่แข่งน้อยราย ขณะนี้บริษัทเปิดร้านฟูจิที่โรงพยาบาลพระราม 9, เมดพาร์ค, และโรงพยาบาลกรุงเทพฯ รวมถึงกำลังเจรจาเพื่อเปิดสาขาใหม่อีกหลายแห่งในปีนี้ อาทิ สมิติเวชศรีนครินทร์
นอกจากนี้ยังมองทำเลในปั๊มน้ำมันมากขึ้น หรือสถานีรถไฟฟ้า ด้วยเมนูที่ถูกปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ลูกค้า ไม่ได้ขายเมนูเดียวกันในทุกช่องทาง เช่น เมนู Box Set ที่ตอบโจทย์คนเดินทางที่ต้องการความรวดเร็ว แต่คงคุณภาพ สำหรับช่องทางร้านภัตตาคาร บริษัทจะพัฒนาหน้าร้านเพิ่มขึ้น และใช้หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารมากขึ้นในอนาคต
รวิวัลย์บอกว่า ตอนนี้พอร์ตของกลุ่มฟูจิ Diversify ต่อยอดไปมากประสบการณ์กว่า 50 ปีทำให้มั่นใจว่า องค์ความรู้ที่มีอยู่จะต่อยอดขยายธุรกิจไปได้เรื่อยๆ จากธุรกิจอาหารเริ่มสู่ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ที่มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรจากพาร์ทเนอร์ผลิตชาเขียวที่ชิซึโอกะในญี่ปุ่น เพื่อมาพัฒนาสินค้าใหม่ รวมทั้งผงมัทฉะสำหรับเครื่องดื่มร้อน เครื่องดื่มเย็น และขายวัตถุดิบให้กับบริษัทอื่นๆ

ขยายต่างประเทศ การตลาดแบบ By Location
รวิวัลย์กล่าวว่า นอกจากไทยแล้ว กลุ่มของฟูจิ ได้เริ่มกลับมาขยายธุรกิจร้านอาหารในประเทศเพื่อนบ้านอีกครั้ง หลังจากได้ชะลอการลงทุนไปในช่วงโควิด เริ่มจากการเปิดร้านฟูจิเทปันยากิที่กรุงพนมเปญในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ร้านฟูจิเทปันยากิที่พนมเปญสาขาที่ 2 อยู่ที่ชั้น 2 ของ The Premier Palace ตรงข้าม Aeon Mall ใกล้กับศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ ร้านฟูจิสาขานี้จะเน้นการรับประทานอาหารแบบ Premium Dining พร้อมเมนูพิเศษ Teppanyaki และ Kushiyaki มีห้องส่วนตัวหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็ก 3-4 คน ห้องขนาดกลาง จนถึงห้องขนาดใหญ่เหมาะสำหรับครอบครัว กลุ่มลูกค้า VIP และการประชุมธุรกิจ
ส่วนร้านฟูจิ สาขาแรกจะอยู่ที่ Aeon Mall เน้นกลุ่มเป้าหมายคนทำงาน และครอบครัว มีเมนูอาหารมากกว่า 250 รายการ
“การขยายร้านอาหารในกัมพูชา ลาว สิงคโปร์ เมียนมา จะเน้น Customer First และทำการตลาด By Location ลูกค้าชอบแบบไหนก็จะปรับตามนั้น” รวิวัลย์กล่าว
นอกจากธุรกิจอาหารแล้ว ทนา กรุ๊ป ยังทำธุรกิจโรงแรมตามเมืองท่องเที่ยวทั้งในเมืองไทย และต่างประเทศด้วย โดยล่าสุดได้เปิดตัว “ทนา สปริง รีสอร์ท” ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
“ครอบครัวเราเดินทางไป-มา ที่เชียงรายเป็นประจำ เพราะมีบ้านพักที่แม่จัน ซึ่งมีน้ำพุร้อนตามธรรมชาติเกิดขึ้นที่นี่ คุณแม่จึงมีไอเดียจะสร้างรีสอร์ท ที่มีออนเซ็นเหมือนในญี่ปุ่นขึ้นมา เราติดต่อเชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาดู ปรากฏว่าสามารถจะทำออนเซ็นตามแบบฉบับที่ญี่ปุ่นได้ ทนา สปริง รีสอร์ท จึงเกิดขึ้นด้วยจุดขายที่ไม่เหมือนใคร เพราะอยู่ในทำเลที่มีวิวภูเขาล้อมรอบ พร้อมออนเซ็นสปาที่สร้างขึ้นตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่นแท้ๆ และใช้น้ำพุร้อนจากธรรมชาติ” รวิวัลย์ เล่า
ในช่วงเริ่มต้น ทนา สปริง รีสอร์ท ให้บริการห้องพักเพียง 38 ห้อง แต่ละห้องถูกออกแบบภายใต้แนวคิด “Where unforgettable comfort seamless blend with nature’’ เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกัน ตัวอาคารและห้องพักตกแต่งในสไตล์ยุโรป
ทนา สปริง รีสอร์ท ให้บริการห้องพักหลายประเภท Deluxe, Deluxe Balcony, และ VIP room ราคาตั้งแต่ 4,200-15,000 บาทต่อคืน ขึ้นกับประเภทห้อง และช่วงเวลาที่เข้าพัก ปัจจุบัน ทนา กรุ๊ป บริหารจัดการเอง แต่อาจจะหา Small Luxury เชนเข้ามาบริหารในอนาคต
นอกจากแม็กเน็ตอย่างออนเซ็นสปา และร้านอาหารแล้ว ฝั่งตรงข้ามกับรีสอร์ท ยังมีสวนดอกไม้ในร่มขนาดใหญ่ อาทิ ดอกทิวลิป ดอกกุหลาบ และดอกไม้หายากสีสันสดใสอีกสารพัดสายพันธุ์ ในอนาคตที่รีสอร์ทแห่งนี้ ยังจะเพิ่มบริการ Playland เพื่อเติมเต็มบริการให้กับกลุ่มลูกค้าครอบครัวด้วย
ทนา กรุ๊ป ขยายมาทำธุรกิจโรงแรมครั้งแรกในปี 2553 ที่เกาะสมุย สุราษฏ์ธานี ก่อนจะกลับมาเปิดรีสอร์ทในเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดฐานที่มั่นสำคัญของฟูจิ เพราะนอกจากบ้านพักแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวญี่ปุ่นทั้งที่ลงทุนเองและอยู่ในระบบ Contract Farming จากเกษตรกรเชียงรายที่เริ่มต้นเพียงเพื่อจะป้อนผลผลิตให้กับร้านอาหารฟูจิที่มีอยู่ทั่วประเทศเท่านั้น แต่ปัจจุบันมองถึงการส่งออกกลับไปยังญี่ปุ่นและขายให้กับแบรนด์ร้านอาหารอื่นๆ ในเมืองไทยด้วย
ปัจจุบัน ทนา กรุ๊ป เป็นเจ้าของโรงแรมอยู่ทั้งหมด 3 แห่ง มี 2 แห่งอยู่ในไทย ได้แก่ “เมอร์เคียว สมุย เฉวง ทนา” มีจำนวนห้องพัก 200 ห้อง ราคาห้องพักอยู่ที่ประมาณ 3,000 - 4,000 บาทต่อคืน แห่งที่ 2 อยู่ที่เชียงราย และอีก 1 แห่ง คือ Ibis style เปิดในเมืองเสียมเรียบ

3-5 ปีเน้นโรงแรม ต่อยอดพัฒนา Private Onsen ที่เชียงราย
“ตามแผนใน 3-5 ปีข้างหน้า เราจะโฟกัสการขยายธุรกิจโรงแรมมากขึ้น จะมีเปิดโรงแรมใหม่ๆ ตามเมืองท่องเที่ยวในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเฟสที่ 2 ที่เชียงรายในพื้นที่เดิม แต่จะเพิ่มห้องพักแบบ Private Villa และ Private Onsen เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มครอบครัวในอนาคต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ขนาดใหญ่ บริษัทจะต่อยอดพัฒนาในเฟสต่อไปเรื่อยๆ แต่ห้องจะไม่เยอะ เน้นเป็น Destination resort มากกว่า ส่วนธุรกิจอาหารก็ไม่ได้ทิ้ง ยังจะมีการ Diversify พอร์ตมากขึ้นในอนาคต” รวิวัลย์บอก
ทนา กรุ๊ป ทำธุรกิจอาหารมานานและหลายรูปแบบมาก ทั้ง Destination Restaurant และ Chain resturant ทำให้ทางกรุ๊ปมีโครงสร้างพื้นฐานงานด้าน Service ที่แข็งแกร่ง และมี Mindset ด้านนี้เป็นอย่างมาก
“และอาหารต้องคู่กับ Location ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย เราจึงขยายโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังใช้จุดแข็งด้าน Services ที่เราชำนาญ และการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้ารอบด้าน ลูกค้าชอบท่องเที่ยว เดินทาง พักที่พักดีๆ สะดวก มีอาหารอร่อยทาน เราเลยอยากขยายด้านนี้ Concept ที่เน้นการสร้างความกินดี อยู่ดี ให้กลุ่มลูกค้า และมีการบริการแบบมาตรฐานที่ดีรองรับ” รวิวัลย์บอก
ศึกษา สร้างโรงแรมแห่ง 2 ที่เสียมเรียบ
ปัจจุบัน ทนา กรุ๊ป กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงแรมแห่งที่ 2 ที่เมืองตากอากาศในเสียมเรียบในอนาคต จากการศึกษาพบว่าโรงแรมที่เสียมเรียบส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมขนาด 5 ดาว ทางกรุ๊ปจึงมองว่า มีโอกาสตลาดสำหรับโรงแรม Reasonable Price ที่นั่น
ทนา กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินการบริหาร 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารภายในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงศูนย์ผลิตและกระจายสินค้า อาทิ ชาเขียวญี่ปุ่น ฟูจิชะ, ข้าวญี่ปุ่นพรีเมียม ฟูจิ ฮิคะริ, ซุปมิโซะ, ซอสโชยุและเทอริยากิ, น้ำสลัดงาญี่ปุ่นและซีอิ๊วญี่ปุ่น เป็นต้น
รวิวัลย์บอกว่า ธุรกิจของ ทนา กรุ๊ป ยังไปต่อได้อีกไกล เพราะเริ่มการสร้างแบรนด์ร้านอาหาร ที่คิดทุกเมนูจากการวิเคราะห์พฤติกรรมและวิถีชีวิตคนที่จะทานก่อน ไม่ได้สร้างจากความฮิตของร้านอาหาร นอกจากนี้ ทนา กรุ๊ป ยังมักจะเน้นการผสมผสานรูปแบบอาหารที่ต้องตอบโจทย์วัฒนธรรมคนรับประทานด้วย
เธอบอกว่าฟูจิเป็นเจ้าแรกที่ผสมความเป็นไทยลงไปในอาหารญี่ปุ่นของฟูจิหลายเมนู และเป็นเจ้าแรกที่เน้นการทานเมนูแบบหลากหลาย หรือเบนโตะแบบจัดแน่นหลายช่อง ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยที่มีวัฒนธรรมทานกับแกล้มหลายอย่าง มากกว่าทานแค่ Set ใคร Set มันแบบคนญี่ปุ่นและชาติอื่น
“สูตรสำเร็จการทำร้านอาหารของเราคือ เวลาเราคิดอาหารเราคิดถึงคนทานก่อน ถึงออกแบบอาหารและวิธีการออกมา และเราทำแบบนี้กับทุกประเภทอาหาร อย่างร้านชอบฯ ก็เหมือนกัน เวลาไปต่างจังหวัด ทุกคนอยากกินเที่ยวจบครบในที่เดียว ทั้งอาหารหลากหลายและอร่อย วัตถุดิบสดสะอาด ร้านมีที่เที่ยวสนุก ถ่ายรูปได้ทั้งครอบครัว และนอนพักผ่อนที่ Resort ได้ ความสำเร็จของแบรนด์อาหารทุกแบรนด์ เกิดจากแนวคิดการสร้างร้าน และสินค้าที่เน้น ‘Customer Centric’ ถ้าฟูจิสำเร็จได้ ‘ชอบ บราสเซอรี่’ ” ก็สำเร็จได้
ภาพ: ทนา กรุ๊ป
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สำเร็จแบบ ‘ดองกิ’ สู้ไม่ได้ ก็ต้องกล้าถอนตัว ส่วนในไทยยังขอไปต่อ เตรียมเปิดใหม่ต่อเนื่องปีละ 2 สาขา
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine